แชร์

เครื่องถ้วยสยามชุดอักษรพระนาม (จปร)

อัพเดทล่าสุด: 29 เม.ย. 2025
96 ผู้เข้าชม

เครื่องถ้วยสยามชุดอักษรพระนาม (จปร)

เครื่องถ้วยชุดนี้คนรักเครื่องถ้วย ชุดน้ำชาคงหลับตานึกภาพออกว่าหน้าตาของชุดที่ว่านี้ลวดลายเป็นอย่างไร  ลักษณะโดยทั่วไปของเครื่องถ้วยชุดอักษรพระนามคือ เป็นเครื่องถ้วยลายคราม พื้นขาว ลายเป็นสีครามน้ำเงิน (โคบอลต์) ซึ่งแตกต่างจากเครื่องถ้วยชุดจักรีที่มีลวดลายและสีสันมากกว่าอีกทั้งยังเขียนลายสอดทอง เครื่องถ้วยจักรีนั้นทรงสั่งทำในยุโรป เมื่อ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ พ.ศ.๒๔๓๐

ส่วนชุดอักษรพระนามนี้ ทรงคิดให้ช่างออกแบบลายสั่งทำในเมืองจีน เมื่อ ปีชวด พ.ศ.๒๔๓๑ มีทั้งสิ้น ๑๐ ลาย ตัวอย่างลายนั้น สามารถหาข้อมูลได้จากหนังสือ งานวิจัย อินเตอร์เนท เพจ เว็บไซต์ต่างๆได้มากมาย เพราะมีคนสนใจศึกษาเครื่องถ้วยชุด จปร จำนวนมาก ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดคนเล่นชุดน้ำชา เครื่องถ้วยและของเก่าต่างๆทั้งจำหน่ายและรับซื้ออย่างเปิดเผย แต่จำนวนของทีมีนั้น หาของจริงชมได้ยากเต็มที ทั้งของเลียนแบบที่คุณภาพดีและคุณภาพเลวก็นับไม่ถ้วน

เครื่องถ้วยสยามชุดอักษรพระนามนี้ ทรงคิดแบบผูกอักษรพระนามเลียนลายจีนอย่างหนังสือใหญ่ เรียกว่าลายยี่ ลายยี่ทั้งสิบนี้มีกระบวนลายที่คล้ายและแตกต่างกัน ลายที่แตกต่างไปเลยก็เช่นลายกระแปะ เป็นรูปวงกลมมีลวดลายคล้ายเหรียญจีนแต่ดูดีๆ ลายนั้นเป็นอักษรพระนาม จปร ขดอยู่ในวงเหรียญ ลายฮ่อเครื่องมงคล ลายลูกไม้ค้างคาว จปร ก็มีความโดดเด่นที่ตัวลายเพราะประกอบด้วยรูปค้างคาวหรือรูปลายลูกไม้มงคลดัดแปลงเป็นอักษรพระนาม สามสี่ลายที่ว่านี้มีความชัดเจนที่สามารถแยกลายได้ง่ายๆ

ลายอีกแบบที่มองเผินๆอาจจะคล้ายกันมากแต่จริงๆแล้วทรงคิดแบบมาเป็นคนละลายกันคือพวกจำพวกยี่ยาว ยี่คด ยี่ซ้อน แต่ในความคล้ายจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในการจัดวางเช่นลายยี่ยาวกับลายยี่ซ้อน ในภาชนะ เช่นกาน้ำชา ถ้าอ่านอักษร ลายยี่ยาวจะอ่านชุดพระนามได้ ๑ ชุดใน ๑ แถวลาย แต่ในลายยี่ยาว จะอ่านชุดพระนามได้ ๒ ชุด ใน ๑ แถวลายเท่ากับว่าในลายยี่ยาวจะมีอักษรพระนามซ้อนกัน ๒ ชุด จึงเรียกว่าลายยี่ซ้อน เป็นต้น

ในบทความนี้มีตัวอย่างมาให้ชมเพียงเล็กน้อย เนื่องจากหาของแท้ได้ยากขึ้น การเก็บข้อมูลผู้เขียนพยายามใช้ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนมาก ปัจจุบันเครื่องถ้วยชุดนี้ยังเป็นที่นิยมของนักสะสมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ราคาสูง หากสนใจสะสมพึงอย่าใจร้อนค่อยๆ ศึกษาดูแบบดูของตามตำราและพิพิธภัณฑ์ ท่านจะแยกแยะความแตกต่าง ต่างๆได้ดีกว่าคำโฆษณา

ประกอบบทความ 

ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เพจกลุ่ม สมบัติสยาม ลายคราม เบญจรงค์ ปั้นชา โบราณวัตถุ 

หนังสือ กังไสลายคราม โดย วรินทราศรม

ภาพจากพิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหารและพิพิธภัณฑ์วัดปากน้ำภาษีเจริญ


บทความที่เกี่ยวข้อง
เราทำทะเบียนโบราณวัตถุไปทำไม
ประโยชน์ของการทำทะเบียนโบราณวัตถุไว้ก่อนมีห้องจัดแสดง
19 เม.ย. 2025
ขุมทรัพย์ ณ เมืองสงขลา
พิพิธภัณฑ์น่าแวะกลางเมืองสงขลา
18 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy